หนังสือพระราชนิพนธ์
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี



พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2540
ประเทศ สิงคโปร์, ปาปัว นิวกินี, ตองกา, เกาะคุก, หมู่เกาะฟิจิ, หมู่เกาะโซโลมอน
กลับไปหน้าที่แล้ว

มนต์รักทะเลใต้


     พระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๓๗ จากบันทึกการเสด็จพระราชดำเนินเยือนหมู่เกาะทะเลใต้ เริ่มจากสาธารณรัฐสิงคโปร์ สู่ปาปัวนิวกินี ราชอาณาจักรตองกา หมู่เกาะคุก สาธารณรัฐหมู่เกาะฟิจิ และหมู่เกาะโซโลมอน ระหว่างวันที่ ๑๕-๒๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๓๙  

     “สาธารณรัฐสิงคโปร์”

     เสด็จพระราชดำเนินโดยเครื่องบินพระที่นั่งจากกรุงเทพ ฯ ไปยังสาธารณรัฐสิงคโปร์ เสด็จ ฯ ไปทรงพบประธานาธิบดีอองเต็งชองและภริยา จากนั้น เสด็จ  ฯ  ไปทอดพระเนตรสวนสัตว์ไนท์ ซาฟารี (Night Safari) โลกใต้ทะเล (Underwater World) เสด็จ ฯ ไปยังสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการท่องเที่ยวสิงคโปร์ โรงเรียนมัธยมจีน ทอดพระเนตรการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ ต่อจากนั้น เสด็จ ฯ ไปยังโรงแรมแรฟเฟิลส์ ทรงฟังการบรรยายเกี่ยวกับกิจการของมูลนิธิสิงคโปร์ (Singapore International Foundation) แล้วเสด็จ ฯ ไปยังสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา อยู่ที่ Heng Mui Keng Terrace ภายในมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ เป็นแหล่งศึกษาวิจัยของนักวิชาการที่ศึกษาเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมัยใหม่ทางด้านยุทธศาสตร์ ความมั่นคง และเศรษฐกิจ 

     เสด็จ ฯ ไปยังสวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์ (Singapore Botanic Gardens) มีลักษณะผสมผสานระหว่างป่าดงดิบกับสวนตกแต่ง เป็นที่รวบรวม เพาะเลี้ยง และวิจัยพันธุ์พืชต่าง ๆ อาทิ สมุนไพร ไม้พันธุ์พื้นเมือง และพันธุ์ไม้หายากต่าง ๆ รวมทั้งพืชเขตร้อนที่เป็นประโยชน์เชิงการค้า เป็นที่ตั้งสวนกล้วยไม้ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เสด็จ ฯ ไปทรงพบนายกรัฐมนตรีโกจ๊กตง และรัฐมนตรีอาวุโสลีกวนยู  ณ Istana Office Wing

     “ปาปัวนิวกินี”

     ที่มาของความสนพระทัยในประเทศปาปัวนิวกินี ได้ทรงเล่าพระราชทานไว้ในพระราชนิพนธ์ ความตอนหนึ่งว่า

     “...เหตุที่อยากไปปาปัวนิวกินีเพราะว่าข้าพเจ้าสนใจศึกษาเรื่องเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อดูแผนที่ของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคแล้ว ประเทศอินโดนีเซียมีเกาะนิวกินีตะวันตกเป็นของอินโดนีเซียเรียกว่าอิเรียนจายา ส่วนด้านตะวันออกเป็นประเทศอิสระเรียกว่าปาปัวนิวกินี ข้าพเจ้าสงสัยว่าเหตุใดอยู่บนเกาะเดียวกันเช่นนี้ปาปัวนิวกินีจึงไม่อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้รับคำตอบว่าเขาถือว่าเป็นประเทศแปซิฟิก มีความใกล้ชิดกับออสเตรเลียมากกว่า ยังมีเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับดินแดนนี้หลายอย่าง ข้าพเจ้าได้ยินว่าแต่ครั้งโบราณมีสัตว์ซึ่งมีกระเป๋าที่หน้าท้องซึ่งเรียกว่า marsupial หลายชนิดในโลก เรียกว่า mammal มีอะไรก็มี marsupial ด้วย ต่อมา marsupial สูญพันธุ์ไปเกือบหมด เหลือแต่บางชนิดอยู่ที่ออสเตรเลีย และบางชนิดอยู่ที่เกาะนิวกินีเท่านั้น นก bird of paradise ที่หายากก็อยู่ที่ปาปัวนิวกินี ข้าพเจ้าได้เห็นเอกสารเรื่องธารน้ำแข็งในอิเรียนจายา เป็นธารน้ำแข็งถาวรแห่งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ข้าพเจ้าอยากเห็นมาก แต่ว่าขณะนี้มีปัญหาไม่สะดวกที่จะไปอิเรียนจายา เวลาก็ไม่พอ ข้าพเจ้าพยายามไปค้นคว้าดูว่าธารน้ำแข็งแบบนี้ในปาปัวนิวกินีมีไหม ก็ไม่ปรากฏว่ามี มีแต่ร่องรอยธารน้ำแข็งโบราณ จะดูอะไรจริงจัง เช่นไปสำรวจป่า ก็ต้องมีเวลานานกว่านี้ สรุปแล้วเดินทางคราวนี้เป็นแค่ “หนังตัวอย่าง” หรือ “สปอตโฆษณา” เท่านั้น คงไม่ได้ข้อมูลจริงจังมาเล่าสู่กันฟัง...”

     เสด็จพระราชดำเนินถึงท่าอากาศยานแจ๊กสัน กรุงพอร์ตมอร์สบี ประเทศปาปัวนิวกินี เสด็จ ฯ ไปยังโรงแรมที่ประทับ Travelodge Port Moresby ทรงฟังการบรรยายเรื่องธรณีวิทยาของประเทศปาปัวนิวกินี โดยอาจารย์จากภาควิชาธรณีวิทยา มหาวิทยาลัยปาปัวนิวกินี เขตที่เป็นประเทศปาปัวนิวกินีนี้เป็นเขตที่มักเกิดแผ่นดินไหวบ่อย ๆ มีภูเขาไฟหลายลูก  plates ของเปลือกโลก โดยปกติจะเคลื่อนที่ราวปีละไม่ถึง ๑ เซนติเมตร แต่ plates ที่ปาปัวนิวกินีเคลื่อนที่เร็วมาก บางปีเกิน ๑๑ เซนติเมตร   แผ่นดินปาปัวนิวกินีเกิดจาก Australian Plate กับ Pacific Plate มาชนกัน

     เสด็จ ฯ ไปทรงพบ Sir Wiwa Korowi ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถแห่งสหราชอาณาจักร และ Lady Nancy Korowi ณ ทำเนียบผู้สำเร็จราชการ ฯ  ทรงพบ Sir Julius Chan นายกรัฐมนตรี ณ  รัฐสภาแห่งชาติ เสด็จ ฯ ไปทอดพระเนตรพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  ที่จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยา วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของปาปัวนิวกินี และเป็นแหล่งรวบรวมศิลปวัตถุและวัฒนธรรมพื้นบ้าน

     เสด็จ ฯ ไปยังสวนพฤกษศาสตร์ (National Capital Botanical Gardens) เป็นที่รวบรวมพืชพันธุ์ไม้และสัตว์ต่าง ๆ ที่หายาก บางชนิดมีเฉพาะในปาปัวนิวกินี เช่น นก bird of paradise นกแก้วชนิดต่าง ๆ นกคาสโซวารี  ทรงพระดำเนินสู่ “forest walk” ในป่าสน ทอดพระเนตรพรรณไม้ต่าง ๆ สวนป่าที่ปลูกใหม่และมีการขยายพันธุ์ไม้ป่าหายากและมีประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เป็นอาชีพของชาวบ้าน และเพื่อการอนุรักษ์ เช่น ไม้ประดู่ ไม้หอม kwila ซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็งใช้ในการสร้างบ้าน  green ebony เนื้อไม้สีน้ำตาล เป็นต้น ทอดพระเนตร "Wedding Garden” เป็นสวนที่มีต้นไม้ใหญ่ที่ปลูกไว้ตั้งแต่สมัยก่อน บริเวณสนามหญ้า ให้คนมาทำพิธีแต่งงานได้ ทอดพระเนตรสวนกล้วยไม้ (Orchid Collection) มีกล้วยไม้ประมาณ ๔,๐๐๐ ชนิด เรือนเพาะชำกล้วยไม้ ที่รวบรวมกล้วยไม้จากทั่วโลก ทั้งของพื้นเมืองและจากที่อื่น ทั้งพันธุ์แท้และพันธุ์ผสม (hybrid) เป็นแปลงกล้วยไม้และสวนกล้วยไม้ที่ใหญ่ที่สุดในซีกโลกใต้ 

     เสด็จ ฯ ไปยังหมู่บ้านบาราเกา เป็นหมู่บ้านหนึ่งใน ๑๐๙ หมู่บ้าน ที่รวมประชาชนถึง ๑๕๐,๐๐๐ คน รวมเรียกว่า Central Provinces หมู่บ้านเหล่านี้แบ่งเป็น ๒๙ เผ่า ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ทอดพระเนตรความเป็นอยู่และประเพณีพื้นเมืองของชาวบ้าน เช่น วิธีการปรุงอาหารแบบพื้นเมืองที่เรียกว่า มู มู โดยการขุดหลุม ใส่หินเผา สุมไฟ เอากล้วย มัน เผือก หมู สุมรวมกัน คลุมด้วยใบตอง การห่อเครือกล้วย การขุดมัน การแสดงศาลประจำหมู่บ้าน การเต้นรำเผ่า ทรงเต้นรำกับผู้นำหมู่บ้าน และทรงฟังเพลงที่คนร้องแต่งถวายให้เป็นพิเศษ จากนั้น เสด็จ ฯ ไปทรงร่วมงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ฯ จัดถวาย ณ รัฐสภาแห่งชาติ  

     ประทับเครื่องบินพระที่นั่ง สายการบิน Air Niugini เสด็จ ฯ ไปยังเมือง Madang เสด็จ ฯ ไปยังสถาบันวิจัยคริสเต็นเซน (Christensen Research Institute) เป็นสถาบันวิจัยทางชีววิทยาทั้งทางบกและทางทะเล  ตั้งอยู่บนแหลมเหนือ เมือง Madang บริเวณฝั่งทะเลมีอ่าว (lagoon) มีเกาะซึ่งส่วนมากเป็นเกาะภูเขาไฟและเกาะปะการัง แนวปะการังเหล่านี้เป็นที่อยู่ของสัตว์ทะเลมากชนิดกว่าทุกแห่งในโลก มีโครงการศึกษาต่าง ๆ  อาทิ โครงการ parataxonomists  การศึกษาเรื่องธรรมชาติที่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมด้วย เพื่อให้เกิดความรักความผูกพันในแผ่นดินของตนเอง โครงการเก็บตัวอย่างผีเสื้อ Moth โครงการศึกษาต้นมะเดื่อและแมลงที่กินใบหรือผลมะเดื่อ โครงการเลี้ยงปลาเพื่อช่วยชาวบ้านให้ได้โปรตีน

     ประทับเครื่องบินพระที่นั่งต่อไปยังเมือง Goroka อยู่ที่ Eastern Highlands Province เป็นเขตที่มีภูมิประเทศเข้าถึงได้ยาก เป็นที่อยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ๔๐ กลุ่ม มีภาษาพูดถึง ๖๐ ภาษา  หนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ที่มารับเสด็จ ฯ คือ mudman ทาตัวด้วยโคลนดินเหนียว ใช้ดินเหนียวปั้นเป็นหน้ากากคล้ายหัวโขนสวมศีรษะ เล่ากันว่าแต่ก่อนกลุ่มชาติพันธุ์นี้รบแพ้กลุ่มอื่น จึงต้องบุกตอบโต้และเอาโคลนทาเพื่อให้ดูน่ากลัว จากนั้น เสด็จ ฯ ไปทอดพระเนตรตลาดชาวบ้าน และ National Day Park มีกลุ่มชาติพันธุ์มาเฝ้า ฯ รับเสด็จ ฯ จำนวนมาก อาทิ Firigano เป็นผู้เชี่ยวชาญการยิงธนู Windoka ต้อนรับโดยใช้ใบตองโบกพัดให้เย็น  เสด็จ ฯ ทรงเยี่ยมกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ  จากนั้น เสด็จ ฯ ไปทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์เจ เค แมคคาร์ธี (JK McCarthy Museum) เป็นพิพิธภัณฑ์ใหญ่เป็นที่สองรองจากพิพิธภัณฑ์ที่พอร์ตมอร์สบี มีการจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ที่เป็นวิถีวัฒนธรรมชาวปาปัวนิวกินี  แล้วเสด็จ ฯ กลับเมืองพอร์ตมอร์สบี ระหว่างทาง เครื่องบินพระที่นั่งผ่านเข้าเขตภูเขาทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มียอดเขาวิลเฮลม์ (Mt. Wilhelm) ซึ่งเป็นภูเขาที่สูงที่สุดในเกาะนิวกินี คือสูงถึง ๑๔,๗๘๓ ฟุต

     “ราชอาณาจักรตองกา”

     เสด็จพระราชดำเนินโดยเครื่องบินพระที่นั่งไปยังท่าอากาศยาน Fua’amotu ราชอาณาจักรตองกา ใช้เวลาเดินทาง ๖ ชั่วโมงเศษ เสด็จ ฯ ถึงกรุงนูกูอะโลฟา (Nuku’alofa มีความหมายว่า เป็นที่อยู่ของความรัก) เสด็จ ฯ ไปยังพระตำหนักที่ประทับ The Villa มกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรตองกา ประทานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ ณ เดอะวิลลา (The Villa)

     เสด็จ ฯ ไปทรงพบนายกรัฐมนตรี Baron Vaea of Houma ณ ทำเนียบรัฐบาล เสด็จ ฯ ไปเฝ้าสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งตองกา ณ พระราชวังหลวง ต่อจากนั้น เสด็จ ฯ ไปยังสภากาชาดตองกา ณ ศูนย์อาลองกา (Aalonga Centre) ทรงเฝ้า ฯ สมเด็จพระราชินีแห่งตองกา องค์สภานายิกากาชาดตองกา ที่ศูนย์ช่วยคนพิการของสภากาชาด ทอดพระเนตรการแสดงของเด็กพิการ สมเด็จพระราชินีพระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารกลางวัน ณ Queen Salote Memorial Hall และได้ทอดพระเนตรการแสดงงานหัตถกรรมของกลุ่มสตรี Langafonua มีการร้อยดอกไม้ทำพวงมาลัย การจักสานก้านมะพร้าว การประดิษฐ์ของจากเปลือกหอยปะการังสีดำ เป็นต้น

     เสด็จ ฯ ไปยัง ตองกา เนชันแนล เซ็นเตอร์ (Tonga National Centre) เป็นศูนย์วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ตองกา มีการแสดงศิลปะพื้นเมือง เช่น การสลักไม้ กระดูก และปะการังสีดำ เสด็จ ฯ ไปยังสถานีทดลอง Experimental Farm ของ Vaini Research Station ขึ้นกับกระทรวงเกษตรและป่าไม้ มีการส่งเสริมเรื่องการปลูกไร่นาสวนผสม ปลูกพืชหมุนเวียน การฝึกอบรมเกษตรกรและแม่บ้านเกษตรกร ทอดพระเนตรสวนพริกไทย แปลงเผือก แปลงกาแฟ การปลูกพืชระหว่างต้นมะพร้าว เสด็จ ฯ หมู่บ้าน Houma อยู่บริเวณริมทะเล ทอดพระเนตรการแสดงพื้นเมือง

     เสด็จ ฯ ไปทรงร่วมพิธีทางศาสนาที่โบสถ์เว็นเทนนารี (Centenary) สมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินีแห่งตองกา พระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารกลางวันที่หาดฟีฟีโฮโลโต (Fee Fee Ho Loto) แล้วเสด็จ ฯ ไปทอดพระเนตรเกาะ Pangaimotu

     “เกาะคุก”

     เสด็จพระราชดำเนินโดยเครื่องบินพระที่นั่งไปยังท่าอากาศยานโรราตองกา (Roratonga) เกาะคุก (Cook Islands) ใช้เวลาเดินทาง ๒ ชั่วโมง ๓๕ นาที ทรงเล่าพระราชทานเป็นความรู้เกี่ยวกับเกาะคุกว่า

     “...หมู่เกาะคุก มีพื้นที่ราว ๒๓๖ ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยเกาะ ๑๘ เกาะ แบ่งเป็นกลุ่มเหนือ กลุ่มใต้ เกาะRarotonga ซึ่งอยู่ในกลุ่มใต้ เป็นที่ตั้งของเมืองหลวง  Avarua ประชากรไม่ถึงสองหมื่นคน เป็นโพลินีเซียนและโพลินีเซียนผสมยุโรป พูดภาษาเมารีและภาษาอังกฤษ นับถือศาสนาคริสต์เคร่งครัด เป็น Christian Church, Roman Catholic, Seventh Day Adventist และ Latter Day Saints ฯลฯ การปกครองเป็นแบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา มีสมาชิก ๒๔ คน มีข้อตกลง Free Association กับนิวซีแลนด์ ถือว่าสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ ๒ ทรงเป็นประมุข มี Mr. Apenera Short เป็นผู้แทนพระองค์ (รัฐบาลเป็นคนเลือก และสมเด็จพระบรมราชินีนาถทรงเห็นชอบ) Sir Geoffrey Henry เป็นนายกรัฐมนตรี มาจากการเลือกตั้งของสภา

     "หมู่เกาะคุกถูกผนวกเป็นของอังกฤษตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๐๑ อังกฤษมอบให้นิวซีแลนด์เป็นผู้ดูแล ค.ศ. ๑๙๖๕ จึงให้ปกครองตนเอง แต่ยังถือว่าเป็นประชากรนิวซีแลนด์ นอกจากมีรัฐสภาแล้วยังมี House of Ariki เป็นตัวแทนเกาะต่าง ๆ ๑๕ คนมีหน้าที่แนะนำในเรื่องวัฒนธรรมประเพณี...”

     เสด็จ ฯ ไปทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์แห่งชาติเกาะคุก (The Cook Islands National Museum) เป็นที่เก็บของโบราณและของพื้นเมือง และเป็นแหล่งให้การศึกษานักเรียนและคนทั่ว ๆ ไป แล้วเสด็จ ฯ ไปยังท่าเรือของหมู่บ้านวากา (Vaka Village) ประทับเรือแคนูพระที่นั่งชื่อว่า Vaka Te Au o Tonga ซึ่งแปลว่า หมอกใต้ (The Mist of the South) ทอดพระเนตรทัศนียภาพเกาะคุก และในช่วงเย็น นายกรัฐมนตรีจัดพระกระยาหารค่ำถวาย โดยมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถร่วมรับเสด็จ ฯ 

     “หมู่เกาะฟิจิ”

     เสด็จพระราชดำเนินโดยเครื่องบินพระที่นั่งไปยังท่าอากาศยาน Nausori กรุงซูวา สาธารณรัฐฟิจิ  ใช้เวลาบินราว ๓ ชั่วโมง ๓๐ นาที เสด็จ ฯ ไปทรงร่วมพิธีต้อนรับแบบพื้นเมืองที่อัลเบิร์ต พาร์ค ทอดพระเนตรการแสดงของนักรบฟิจิเต้นระบำที่เกี่ยวกับการรบ แล้วเสด็จ ฯ ไปทรงพบประธานาธิบดีมารา ณ ทำเนียบประธานาธิบดี
     ต่อจากนั้น เสด็จ ฯ ไปยังศูนย์วัฒนธรรมที่อ่าวแปซิฟิก (Pacific Harbour) ทอดพระเนตรวัฒนธรรมประเพณีต่าง ๆ ของชาวฟิจิ และทรงพบนายกรัฐมนตรีราบูกา ณ ทำเนียบนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้น เสด็จ ฯ ไปทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์ฟิจิ (The Fiji Museum) จัดแสดงประวัติศาสตร์ของประเทศสมัยต่าง ๆ เสด็จ ฯ ไปยังสถาบันเทคโนโลยีฟิจิ  ทอดพระเนตรการศึกษาแผนกต่าง ๆ ต่อมา เสด็จ ฯ ไปยังมหาวิทยาลัยแปซิฟิกใต้ ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. ๑๙๖๘ ประเทศต่าง ๆ ในแปซิฟิกใต้ ๑๒ ประเทศเป็นเจ้าของร่วมกัน มีวัตถุประสงค์ที่จะเสริมสร้างวิชาการและทักษะที่จำเป็นในการพัฒนาประเทศในแถบภูมิภาคนี้ให้แก่ชาวพื้นเมือง ทรงฟังการอภิปรายเรื่อง  Islands of Oceania : Today and Tomorrow จากนั้น เสด็จ ฯ ไปทรงร่วมงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ ประธานาธิบดีจัดถวาย ณ ทำเนียบประธานาธิบดี 

     “หมู่เกาะโซโลมอน”

     เสด็จ ฯ ไปทอดพระเนตรป้อมทาวานิ (Tavani) หมู่บ้านโบราณที่ได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว แล้วเสด็จพระราชดำเนินโดยเครื่องบินพระที่นั่งต่อไปยังท่าอากาศยานเฮนเดอร์สัน กรุงฮอเนียรา หมู่เกาะโซโลมอน ใช้เวลาบินประมาณ ๓ ชั่วโมง ทรงพบผู้สำเร็จราชการหมู่เกาะโซโลมอน ณ ทำเนียบผู้สำเร็จราชการ แล้วทรงพบนายกรัฐมนตรี ณ ทำเนียบนายกรัฐมนตรี จากนั้น เสด็จ ฯ ไปทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์สงครามวิลู ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง ทอดพระเนตรเครื่องบินและอาวุธสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ เสด็จ ฯ ไปยังหาดโบเนเก้ ทอดพระเนตรซากเรือรบสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒  แล้วเสด็จ ฯ ไปยังพิพิธภัณฑ์และศูนย์วัฒนธรรม (National Museum and Cultural Centre) ทอดพระเนตรนิทรรศการศิลปวัฒนธรรมของโซโลมอนและการแสดงแบบพื้นเมือง